โรงเรียนสหมิตรวิทยา ตั้งอยู่เลขที่ ๖๖ หมู่ที่ ๔ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา (เดิมอำเภอแม่แจ่ม) จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้ประกาศศาสนาคริสต์คณะแบ๊บติสต์ มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ นำโดย มิสเตอร์แวน แบนต์สโครทเธอร์ ได้เดินทางเข้ามาในหมู่บ้านหนองเจ็ด-หน่วย เขตมูเส่คี ซึ่งในสมัยนั้นการเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านยากลำบากมาก ต้องเดินขึ้นเขาลงห้วย ข้ามแม่น้ำ กว่าจะถึงหมู่บ้านใช้เวลาเป็นอาทิตย์ เมื่อท่านได้เดินทางมาถึงและเห็นสภาพความเป็นจริงตามคำบอกเล่าของอาจารย์บอเหน่ ขันแก้ว ซึ่งเป็นผู้ประกาศชาวกะเหรี่ยง จากนั้นเริ่มมีการวางแผนที่จะสร้างโรงเรียนขึ้น เพื่อให้เด็กชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่ด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือ อ่านออก เขียนได้ สามารถสื่อสารกับผู้อื่นหรือติดต่อกับทางราชการได้ พร้อมทำการประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไปด้วย
พ.ศ.๒๔๙๘ คณะมิชชั่นนารีร่วมกับสมาชิกคริสตจักร นำโดยอาจารย์บอเหน่ ขันแก้ว และนายบือคา หวังใจ ผู้ใหญ่บ้าน ได้ประชุมกันเพื่อก่อตั้งโรงเรียนชั่วคราวซึ่งไม่เป็นทางการขึ้นที่ ทีบอ-ละถ่า อยู่ระหว่างหมู่บ้านหนองเจ็ดหน่วยและหมู่บ้านแจ่มหลวง เริ่มแรกสร้างเป็นกระท่อมชั่วคราวใช้สำหรับสอนเด็กๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงให้อ่านออกเขียนได้โดยมี อาจารย์เบอร์นี่โพ โพโพ เป็นครูสอนคนแรก
พ.ศ.๒๕๐๐ มิสเตอร์คาร์เดอร์ มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน มีงบประมาณพอที่จะก่อสร้างโรงเรียนโดยมีข้อแม้ว่าที่ตั้งของโรงเรียนจะต้องมีหนังสือเอกสารสิทธิ์ที่ดินต่อมาได้ซื้อที่ดินของนางงือโพจำนวนพื้นที่ ๖ ไร่ ๒ งาน ๙๕ ตารางวา เป็นจำนวนเงิน ๒,๕๐๐ บาท (สองพันห้าร้อยบาทถ้วน) และได้ก่อสร้างอาคารเรียนหลักแรกขึ้นโดยให้ชื่ออาคารว่า อาคารคาร์เดอร์ เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔
ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๖ โรงเรียนได้รับอนุญาตจากทางราชการให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนเอกชนขึ้นอย่างเป็นทางการโดยมีชื่อว่า “โรงเรียนสหมิตรวิทยา” ประเภทสามัญเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ชั้นประถมศึกษาปี่ที่ ๔ มีนายบือคา หวังใจ เป็นเจ้าของ นายชวน ดาวเรือง เป็นผู้จัดการ นายจำนง อุประคำ เป็นครูใหญ่ เก็บค่าเล่าเรียนตลอดปีๆ ละ ๕๐ บาท แบ่งเป็น ๒ ครั้งๆ ละ ๒๕ บาท
ปีพ.ศ.๒๕๑๐ นายบุญมา ตื้อจันทร์ตา เป็นผู้จัดการโรงเรียน และนายไสว สงวน-วงค์วิจิตร เป็นครูใหญ่ และได้ขออนุญาตขยายชั้นเรียนจาก ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เป็น ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗
ปีพ.ศ.๒๕๑๒ โรงเรียนได้รับอนุญาตให้ขยายชั้นเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ ให้เรียกเก็บค่าเล่าเรียนปีละ ๗๕ บาท
ปีพ.ศ.๒๕๑๓ โรงเรียนได้ทำการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ๑ หลัง เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น มี ๔ ห้องเรียน และ ๑ ห้องทำการ ซึ่งเป็นเงินบริจาคจากภรรยาของนายวอร์เทอร์ มาร์ติน นายทหารชาวอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามเวียตนาม และได้ตั้งชื่ออาคารหลังนี้ว่าอาคารมาร์ติน เพื่อเป็นอนุสรณ์
ปีพ.ศ.๒๕๑๖ นายดำรง วัฒนา เป็นครูใหญ่ และได้มีการเปลี่ยนแปลงระดับ การศึกษาของไทยจาก ๗ ๓ ๒ มาเป็น ๖ ๓ ๓ ใน พ.ศ.๒๕๕๐
วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ เสด็จเยี่ยมโรงเรียนสหมิตรวิทยาและพสกนิกรของพระองค์ในตำบลบ้านจันทร์ เป็นครั้งแรกนำความปลาบปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง
ปี พ.ศ.๒๕๒๓ โรงเรียนขออนุญาตขยายชั้นเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ ๑ ถึงชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๓ และได้รับอนุญาตให้เปิดสอนเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๔ ให้รับ นักเรียนได้ทั้งหมดไม่เกิน ๓๙๕ คน ระหว่างนี้ มีนายถวิลศักดิ์ จันทรยุทธ เป็นผู้จัดการ ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒ และมีการเปลี่ยนแปลงผู้รับใบอนุญาตในพ.ศ.๒๕๒๖ โดยมีนายชาญชัย คีรีผจญ เป็นผู้รับใบอนุญาตลงนามแทนมูลนิธิแบ๊บติสต์เพื่อการศึกษา
ปี พ.ศ.๒๕๓๐ โรงเรียนได้รับงบประมาณจาก BIM เป็นจำนวนเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) สร้างอาคารเรียนหลังใหม่เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ๖ ห้องเรียน โดยตั้งชื่อว่า อาคารบือคา มีการต่อเติมอาคารคาร์เดอร์และอาคารมาร์ติน อาคารละ ๒ ห้องเรียน ชั้นบน ๑ ห้อง ชั้นล่าง ๑ ห้อง
ปีพ.ศ.๒๕๓๒ โรงเรียนได้รับเงินงบประมาณจากการอนุเคราะห์ ของพี่น้องคริสตจักรประเทศสวีเดน ทำการก่อสร้างอาคารอำนวยการเป็นอาคาร ๒ ชั้นตั้งชื่อว่า อาคารอำนวยการ เป็นที่บริหารงานของโรงเรียน
ปีพ.ศ.๒๕๓๔ ก่อสร้างอาคารเรียน ๒ ชั้น ๖ ห้องเรียน จำนวน ๒ หลัง หอประชุม ๑ หลัง ห้องน้ำห้องส้วม ๔ หลัง หอพักนักเรียน ๒ ชั้น ๒ หลัง แยกเป็นหอพักชาย และหอพักหญิง บ้านพักพ่อบ้าน ๑ หลัง และบ้านพักครู ๔ หลัง โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๑๘ ล้านบาท (สิบแปดล้านบาทถ้วน) และมีนายโยธิน ศักดิ์คีรีชัย ดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่ และโรงเรียนได้รับอนุญาตให้รับนักเรียนเพิ่มได้แต่ไม่เกิน ๘๕๕ คน ใน พ.ศ.๒๕๓๖
ปีพ.ศ.๒๕๓๘ โรงเรียนเปลี่ยนแปลงจากโรงเรียนเอกชนมาตรา ๑๕(๑) เป็นโรงเรียนเอกชนมาตรา ๑๕(๓) ประเภทสงเคราะห์การศึกษา ในปีต่อมาทางโรงเรียนได้ยกเลิกการเรียน เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาทุกกรณี
ปีพ.ศ.๒๕๔๔ โรงเรียนได้รับอนุญาตขยายชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และมี การเปลี่ยนปลงครูใหญ่เป็น นายประวิทย์ สุริยมณฑล ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ จนกระทั่งวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘ โรงเรียนปิดโครงการคอมแพสชั่น
ปัจจุบัน นักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนเป็นชาวเขามาจากครอบครัวที่ด้อยโอกาสและยากจน ๔ ชนเผ่า ได้แก่ เผ่ากะเหรี่ยงสะกอ, กะเหรี่ยงโป, ม้ง, อาข่า มาจากพื้นที่ต่างๆ ได้แก่อำเภอแม่สะเรียง,อำเภอแม่ลาน้อย, อำเภอขุนยวม, อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, อำเภอกัลยาณิวัฒนา, อำเภอแม่ริม,อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่, อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และจังหวัดลำพูน เป็นนักเรียนประจำหอพัก ๑๖๐ คน (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๐ มิถุยายน ๒๕๕๗)
|